นายนิติ นิเดหะ
นายกเทศมนตรีเมืองตะลุบัน เบอร์โทรศัพท์ 081-9575574
ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา

 
        เทศบาลตะลุบัน จัดตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เดิมเป็นเมืองตะลุบัน ขึ้นกับอำเภอสายบุรี และประกาศจัดตั้งเทศบาล เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2483 ใช้ที่ทำการร่วมกับอำเภอ ปัจจุบันมีสถานที่ปฏิบัติการ ซึ่งสร้างในปี 2499 
เมืองสายบุรี (เทศบาลตำบลตะลุบัน) อดีต เทศบาลตำบลตะลุบัน ตั้งอยู่ในตำบลตะลุบันเต็มพื้นที่ และเป็นส่วนหนึ่ง ของอำเภอสายบุรี 1หรือเมืองสาย ซึ่งเป็นเมืองที่มีอารยธรรมเก่าแก่ และเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง ควบคู่กับเมืองปัตตานี ปรากฏหลักฐาน ใน พ.ศ. 1719 จัดเป็นหัวเมืองอันดับ 1 ในหัวเมืองสิบสองนักกษัตร ของแคว้นศิริธรรมนคร (นครศรีธรรมราช) ถือตราหนู (ชวด) เป็นตราประจำเมือง โดยทางด้านทิศออกของเมืองสายบุรี ตั้งอยู่ติดกับทะเล และมีแม่น้ำสายบุรี คลองสายบุรี คลองไม้แก่น และคลองบือโป๊ะ เป็นเส้นทางคมนาคม และเพื่อการเกษตรในสมัยโบราณ จึงทำให้มีแหล่งชุมชน กระจัดกระจาย โดยทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณบ้านไม้แก่น บ้านไทรทอง บ้านปาเซ บ้านใหญ่ ฯลฯ หรือบริเวณที่ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอไม้แก่น แต่เดิมล้วนเป็นบริเวณของเมืองสายบุรีทั้งสิ้น 
         ในสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.2352 - 2367) ตามความในหนังสือตำนานเมืองกล่าวว่า โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเมืองปัตตานี ออกเป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองยะลา เมืองยะหริ่ง (ยิหริ่ง) เมืองระแงะ เมืองรามัน เมืองสายบุรี และเมืองหนองจิก มีพระยาเมืองปกครอง ขึ้นตรงต่อเมืองสงขลา จนถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ให้จัดการปกครอง เป็นมณฑลเทศาภิบาล เมืองปัตตานี และเมืองอื่น ๆ ทั้ง 7 เมือง ก็ได้จัดการปกครองเป็นบริเวณเรียกว่าบริเวณ 7 เมือง ขึ้นต่อข้าหลวงใหญ่มณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2449 จึงได้ตั้งบริเวณ 7 หัวเมืองนั้น เป็นมณฑลปัตตานี และมีจังหวัดขึ้นต่อมณฑลนี้เพียง 4 จังหวัด คือ รวมเมืองปัตตานี เมืองหนองจิก และเมืองยะหริ่ง เข้าเป็นเมืองปัตตานี รวมเมืองยะลา กับรามัน เข้าเป็นเมืองยะลา ส่วนเมืองสายบุรี และเมืองระแงะ คงอยู่ตามเดิม แต่เดิมเมืองสายบุรี ตั้งอยู่ตามลำน้ำสายบุรี ลึกเข้าไปทางอำเภอยี่งอ ด้วยเหตุที่ในฤดูแล้งลำน้ำแห้ง เรือเดินเข้าไปเมืองสาย ไม่ตลอด พระยาสายจึงให้ย้ายเมือง มาตั้งใหม่ บริเวณเขาซาลินดงบายู (ตำบลตะลุบัน) บริเวณเขตเทศบาลปัจจุบัน
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2415 ใน พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสแหลมมลายู ในวันที่ 31 กรกฎาคม ได้เสด็จลงเรือพระที่นั่งอุบลบูรพทิศ มาถึงเมืองสายบุรี จากจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพาสแหลมมลายู เมื่อ ร.ศ. 108 ความตอนหนึ่งว่า "พระยาสายได้จัดเสบียงอาหารและฟืนลงมาส่งเรือทุกลำเป็นอันมาก เวลาเช้า 5 โมงครึ่ง เสด็จลงเรือพระที่นั่งขึ้นบก ข้าราชการแต่งครั้งยศ มีเรือทหาร เรือข้าราชการ และเรือเมือง แห่นำตามเสด็จ 1 สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม 16. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542. เป็นกระบวนเข้าปากน้ำ เมืองสายเป็นหาดทรายสลับบังกัน ที่คอหาดสองข้าง เป็นหมู่บ้านต้นสน ต่อนั้นไป เป็นสวนมะพร้าว แลเห็นไปโดยรอบ ที่ปลูกใหม่ออกมาตามหาดทรายก็มี ลำน้ำกว้างใหญ่ มีลำคลองเล็กน้อย แยกไปหลายทาง ล้วนแต่เป็นสวนมะพร้าว และหมู่ตาล และโรงเรือนที่คนอาศัยสวนเป็นระยะกันมิได้ขาด ที่กลางน้ำมีทรายมูลเป็นเกาะ ร่องน้ำอ้อมไปตามท้องทุ่ง บางอย่างก็มีไร่ยา ไร่อ้อยที่เป็นหมู่บ้านใหญ่ ก็มีคนมานั่งดูหลานร้อยคน ที่วัดหัวคุ้งสุดถนนบ้านจีน มีตึกจีนก่อกำแพงสกัดหน้าหลังหนึ่ง มีเรือค้าขายเป็นเรือทะเลบ้าง เรือเหนือบ้าง จอดอยู่หลายลำ ระยะห่างแต่ปากน้ำไปประมาณ 50 นาที ถึงพลับพลาเรือพระที่นั่ง ประทับท่าแล้ว เสด็จขึ้นบนพลับพลา มีพระสงฆ์รับเสด็จที่ท่าน้ำ ที่พลับพลาทำเป็น 4 มุข ยกพื้นกลางสูงมีพนักรอบ การตกแต่งพลับพลาทั้งปวง เป็นฝีมือ….เสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาแล้วพระยา กลันตัน และพวกพ้อง พระยาสาย และพวกพ้อง เฝ้าทูลละอองพระบาท แล้วรับสั่งถามการงานในเมืองสายบุรีตามสมควร แล้ว เสด็จพระราชดำเนินจากพลับพลา ไปตามทางตรงไปถึงบ้านพระยาสาย ที่ริมเขาสิโลนายู ทางกว่าสิบเส้น ที่หน้าบ้านพระยาสายเป็นสนามกว้างไม่มีต้นไม้ รั้วบ้านกว้างประมาณ 2 เส้นเศษ มีตึกทำใหญ่ 2 หลังเคียงกัน หลังหนึ่งชักกลางถึงกัน แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จัดการรับเสด็จที่เรือนเก่า การที่พระยาสายจัดรับเสด็จทั้งปวงนั้น เป็นที่ชื่นชมยินดีอย่างยิ่งทำจนสุดกำลังที่จะทำได้ แล้วเสด็จกลับจากบ้านพระยาสาย มาประพาสตลาดจีน ซึ่งเลี้ยวไปตามลำดับประมาณสัก 5 เส้น 6 เส้น มีร้ายขายผ้าและของต่างๆ มาก" 
         ต่อมาในปี พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเกาะชวาครั้งที่ 2 โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเกาะชวา ได้เสด็จตรวจราชการที่เมืองตรังกานู เมืองกลันตัน เมืองสาย ในวันที่ 8 สิงหาคม จากจดหมายเหตุประพาสเกาะชวาในรัชกาลที่ 5 ความเกี่ยวกับเมืองสาย ตอนหนึ่งว่า "วันที่ 8 เวลารุ่งเช้า เรือพระที่นั่งถึงหน้าเมืองสาย พระยาสุริยะสุนทรเจ้าเมืองสาย และ พระยาตายานี ทูลละอองธุลีพระบาทในเรือพระที่นั่ง ครั้นเวลาเช้า 4 โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินเมืองสาย เหมือนดังเสด็จ 2 เมือง ในวันก่อนเสด็จประทับที่พลับพลาริมท่าน้ำซึ่งพระยาสายจัดปลูกรับเสด็จ พระยาสาย พระยาตานี พระยายะหริ่ง พระยารามันห์ พระยาระแงะ พระยาหนองจิก แลศรีตวันกรมการเมืองใน 7 เมือง มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เว้นแต่พระยายะลาป่วย หาได้มาเฝ้าทูลละอองธุลีไม่ประทับ ที่พลับพลามีพระราชดำรัสด้วยราชการต่าง ๆ แก่หัวเมืองทั้ง 7 เมืองนั้น แล้วเสด็จขึ้นทรงพระราชยาน ไปทอดพระเนตรเมืองสายอยู่ต่อพลับพลาไป พระยาสายได้จัดการ ทำนุบำรุงเมือง เป็นการเจริญขึ้น เสด็จประทับที่บ้านพระยาสาย บุตร ภรรยา พระยาสายเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับมาที่พลับพลา เวลาบ่ายโมงเศษ เสด็จลงเรือพระที่นั่งมหาจักรีออกมาจากที่จอดเมืองสายแล่นต่อมา เวลาดึกถึงแขวงเมืองสงขลา" 
         พ.ศ. 2475 ได้ประกาศยุบเมืองสายบุรี เป็นอำเภอตะลุบัน ขึ้นกับจังหวัดปัตตานี มีกิ่งอำเภอ 1 กิ่ง คือกิ่งอำเภอกะลาพอ และแบ่งท้องที่บางส่วนไปขึ้นกับจังหวัดนราธิวาส (เมืองระแงะเดิม) จนถึง พ.ศ. 2481 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสายบุรี พ.ศ. 2491 ยุบกิ่งอำเภอกะลาพอลง มีฐานะเป็นตำบลเรียกว่า "ตำบลเตราะบอน" ขึ้นตรงต่ออำเภอสายบุรี ตำบลตะลุบันได้รับการยกฐานะ เป็นเทศบาลตำบลตะลุบัน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2483 โดยผลของพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2476 และพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเทศบาลตำบลตะลุบัน ซึ่งประกาศใช้ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 57 ตอนที่ 39 พ.ศ. 2483 โดยมีขุนไชยสุวรรณพงค์ เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก แต่เดิมเทศบาลตำบลตะลุบัน ใช้ที่ทำการร่วมกับ ที่ว่าการอำเภอสายบุรี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2499 เทศบาลได้สร้างที่ทำการใหม่ และใช้เป็นที่ทำการจนถึงปัจจุบัน...
 





สำนักงานเทศบาลเมืองตะลุบัน ถนนลูกเสือ ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี 94110
โทรศัพท์ 073-411015   l  โทรสาร 073-411015  l   อีเมลล์ :
talubun2019@gmail.com